“เร็วทะลุเร็ว” ผลงานหนังแอ็คชั่นสุดระห่ำเที่ยวล่าสุดของสุดยอดปรมาจารย์คิวบู๊อันดับหนึ่งของเมืองไทย “พันนา ฤทธิไกร” ที่ขอกลับมาสร้างผลงานในสไตล์ถนัดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นจากผลงานเรื่องล่าสุดอย่าง “โคตรสู้ โคตรโส” โดยการกลับมาในครั้งนี้ของพันนา เขาก็ขอสร้างปรากฏการณ์ความยิ่งใหญ่ครั้งสำคัญให้คอหนังแอ็คชั่นจารึกไว้ใน ความทรงจำ กับเรื่องราววิถีชีวิตมือปืนที่เต็มไปด้วยแง่มุมของความรัก มิตรภาพของพี่น้อง การแก้แค้นที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่ง พันนา ฤทธิไกร พูดถึงจุดเริ่มต้นของ “เร็วทะลุเร็ว” ว่า
“มันเริ่มมาจากการที่อยากเปลี่ยนภาพหนัง และวิธีการนำเสนอแบบใหม่ๆ ปกติจะมีการคิดฉากแอ๊คชั่นก่อน แล้วค่อยใส่เรื่องราวเข้าไป มา ในเรื่องเร็วทะลุเร็วผมอยากทำหนังที่สตอรี่กับฉากแอ็คชั่นเดินไปด้วยกัน ซึ่งเราก็ได้ปรึกษาคุณปรัชญา (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) ถึงเรื่องมุมมองและจังหวะของเรื่องราว ซึ่งมีตัวละครแบบหนึ่งที่ผมอยากทำเป็นหนังอยากเอามาเป็นตัวพระเอกบ้าง ก็คือตัวละครที่เป็นมือปืน เป็นนักฆ่า เลยนึกไปถึงหนังในดวงใจของผมคือเรื่อง “มือปืน” ของ ท่านมุ้ย คือบอกไว้ก่อนว่าคงไม่อาจเอื้อมทำให้ได้แบบท่านนะ แต่ชอบคาแรกเตอร์ของมือปืนที่พี่เอก สรพงษ์เล่นไว้ เหมือนที่ตัวเอกของเร็วทะลุเร็วที่เดี่ยวเล่น การที่ชีวิตหันเหมาเป็นมือปืนเพราะพ่อแม่โดนฆ่า คือ มันเป็นจุดเชื่อมต่อของดราม่ากับแอ็คชั่น เพราะถ้าตรงนี้ไม่มีพลังไม่มีแรงขับพอ พาร์ทของแอ็คชั่นก็ไม่น่าเชื่อ ไม่ใช่มาถึงก็ต่อยๆ กัน แต่หนังต้องมีความรู้สึกจากข้างใน แล้วขับไปเป็นพลังให้เกิดฉากต่อสู้เสี่ยงตายต่างๆ ได้”
กับที่มาของชื่อ “เร็วทะลุเร็ว” ซึ่ง หลายคนอาจอยากรู้ถึงที่มาที่ไปของชื่อนี้ ที่ผู้กำกับพันนาตั้งใจสื่อความหมายให้ออกมาตรงกับคอนเซปต์ของการต่อสู้รวม ไปถึงฉากเสี่ยงตายที่จะออกสู่สายตาทุกคู่ให้ได้ตะลึงจนแทบหยุดหายใจอีกครั้ง
ตัวอย่างหนังออนไลน์
รีวิวหนัง
เร็วทะลุเร็ว (2014)
พันนา ฤทธิไกร
พันนา ฤทธิไกร อาจไม่ใช่คนทำหนังที่เล่าเรื่องเก่ง ตลอดทั้งเรื่องมันพรุนไปด้วยข้อบกพร่อง ทั้งที่เราไม่ได้คาดหวังอะไรกับมิติของบท การกำกับการแสดง แต่แม้กระทั่งสิ่งที่ดีอันเป็นจุดแข็งที่สุดของหนังอย่างคิวแอคชั่นก็ยังผสมผสานกันทั้งสิ่งที่ยอดเยี่ยมและหลายอย่างที่ไม่เข้าท่า มันเหมือนเป็นหนังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยpassion ของความเป็นแอคชันคลาสสิค เต็มไปด้วยโมเมนต์ที่ดี ขณะเดียวกันก็ประดักประเดิดขาดเป็นวิ่นๆ ไม่สามารถกลมกลืนลงตัวได้ในแบบคนทำหนังที่เล่าเรื่องเก่ง แต่ก็เป็นหนังที่เต็มไปด้วยรสชาติแอคชันไทยคลาสสิคอย่างที่ใครก็ทำไม่ได้เหมือนกัน
คิวบู๊ในหนังทะเยอทะยานเกินงบประมาณไปไกลมาก แต่สิ่งที่พันนาเลือกคือการชักดาบสองคมดันไปให้สุดจนสุดทาง การจะพารถไฟไทยเหิรฟ้าไปชนคอปเตอร์แลกมาด้วยซีจีห่วยบรม เป็นการตัดสินใจที่บ้าและกล้าดีในยุคที่คนไทยมีมารตฐานซีจีระดับฮอลลีวู้ดโอนลี่เป็นพื้นยืนไปแล้ว
นอกจากซีจีที่ดูจะเป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับคนส่วนใหญ่ที่คงส่ายหัวไม่รับ ซาวด์เอฟเฟกในคิวบู๊ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่ารำคาญไม่น้อย การใส่ซาวด์เอฟเฟกหลายๆ ครั้งที่ไม่เมกเซนส์และดูจะพร่ำเพรื่อไปหน่อย เป็นมุขที่โพสต์โปรดักชั่นของสหมงคลฟิล์มไม่ได้พัฒนาขึ้นมาจากยุคองค์บากเท่าไหร่เลย
แต่ในฐานะที่หนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องสุดท้ายของตำนานผู้กำกับ/ผู้ออกแบบคิวบู๊ไทยอย่าง พันนา ฤทธิไกร สิ่งที่สัมผัสได้เต็มๆ จากหนังคืออรรถรสความเป็นหนังแอคชั่นแบบไทยคลาสสิคที่หลังจากนี้ไปเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นง่ายๆ อีกแล้ว แม้มันจะเป็นหนังที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความทะเยอทะยานและพลังความหลงใหลในแอคชั่นล้นปรี่จริงๆ และไม่มากไม่น้อยสำหรับคนดูที่เกิดทันยุคทองของฉลอง ภักดีวิจิตร ไล่เรียงมาจนถึงยุคแจ้งเกิดหนังแอคชั่นไทยในระดับโลกอย่างองค์บาก ส่วนผสม รสชาติ บรรยากาศที่เราเคยคุ้นเคยเหล่านั้นมีกลิ่นเจือปนอยู่ในผลงานกำกับสุดท้ายของผู้กำกับคอแอคชั่นขนานแท้เรื่องนี้ไม่มากก็น้อย